...สามัคคี...
ความสามัคคี ย่อมเกิดจาก
(๑) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
(๒) พูดจาอ่อนน้อมอ่อนหวานต่อกัน
(๓) ช่วยเหลือกันในยามยาก
(๔) วางตนเสมอกันในความเป็นอยู่
(๕) ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
(๖) ไม่ถือความขัดแย้งกันทางความคิด เป็นเรื่องสำคัญ
(๗) ไม่เอาแพ้เอาชนะกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะชนะเขาก็ต้องได้รับการจองเวร แพ้เขาก็ช้ำใจ ไม่แพ้ไม่ชนะใคร สงบ สบาย ไม่วุ่นวายประการใด ความชนะที่มีคุณค่า คือ ความชนะใจของตัวเองเป็นคุณค่ามหาศาล การที่คนเรา มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกัน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราย่อมมีความคิดเห็นต่างกันได้ ตามสภาพของจิตใจของใครของมัน ถ้ามีความปรารถนาดีต่อการงานของหมู่คณะ มีความรักหมู่คณะ ก็สามารถทำงานด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา เหมือนชอบรสอาหารไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดา
มีความรักกันก็สามารถรับประทานร่วมกันได้ด้วยดี เพลิดเพลินสนุกสนาน โปรดเข้าใจว่า คนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนเรา ไม่ใช่คนเลวทรามเสียหาย เป็นคนดีเหมือนเรานั่นเอง การทำให้คนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทำงานด้วยกันได้ มีความสามัคคีปรองดองกัน เป็นความสามารถของการปกครอง และการบังคับบัญชาบุคคลของนักบริหาร เครื่องวัดความคิดเห็นว่าจะตรงจุดหมายหรือไม่นั้น ได้แก่
(๑) ระเบียบแบบแผน (๒) ขนบธรรมเนียมประเพณี (๓) เหตุผล (๔) ข้อเท็จจริง (๕) กฎธรรมดา (๖) ความยอมรับของมหาชน ความสงบชั้นสุดยอด หมายถึง ความสงบของจิตใจจากการเจริญกรรมฐาน คือ ใจอยู่ในปรกติภาพตลอดเวลา และอิสรภาพตามธรรมชาติของมัน
เวลามีอารมณ์มากระทบก็ไม่หวั่นไหว ไม่กระเทือนประการใด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาถึงก็ไม่ดีใจ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ มาถึงก็ไม่เสียใจ มีอุเบกขา คือ ความวางเฉย หรือความรู้สึกเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาถึง เมื่อไม่มีอารมณ์เป็นอย่างไร มีอารมณ์มาถึง ก็เป็นอย่างนั้น เป็นเครื่องบังคับ คือ สติสัมปชัญญะ
ท่านสาธุชนทั้งหลาย การเจริญกรรมฐานจึงมีประโยชน์ในชีวิตของเรา ทำให้อายุยืนยาวต่อไปได้ และสามารถใช้ชีวิตต่อการงานและหน้าที่ที่ถูกต้อง
ไม่เอาถูกใจเหมือนแต่ก่อนมา และสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตนี้ของท่าน จะเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรต่อไปได้อย่างสมปรารถนาทุกประการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น